ระบบสารสนเทศทางการผลิต
ธุรกิจมีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการจัดการการผลิตและการดำเนินงาน ( Production Operation Management : POM ) ที่ดีและมีประมิทธิภาพ ตลอดจนมีการใช้สารสนเทศทางการผลิตเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุน
ระบบสารสนเทศทางการผลิต นับเป็นเครื่องมือหนึ่งของการนำเสนอสารสนเทศทางการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้สารสนเทศด้านการวางแผน การจัดการ และการควบคุมการผลิตและดำเนินงาน ตลอดจนมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการผลิต
แนวคิดและความหมาย
O’brien (2005, p.240) ได้ให้นิยามไว้ว่า ระบบสารสนเทศทางการผลิต หมายถึง ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนหน้าที่งานด้านการผลิตและดำเนินงาน ตลอดตนกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการวางแผน การควบคุมกระบวนการผลิตและการจัดระบบการผลิตของธุรกิจ โดยจำเป็นจะต้องมีการประมวลผลธุรกรรมด้านการผลิตและดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมต่อระบบสารสนเทศทางการผลิตเข้ากับระบบสารสนเทศของธุรกิจขนส่ง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก สถาบันการเงิน และธุรกิจซึ่งให้บริการประเภทต่าง ๆ ในฐานะองค์การคู่ค้าภายนอกของธุรกิจ
Laudon and Laudon (2005, p.51) ได้ให้นิยามไว้ว่า ระบบสารสนเทศทางการผลิต หมายถึง ระบบสารสนเทศที่ใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านการผลิตสินค้าหรือบริการ เช่น การวางแผนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการผลิตในส่วนของการจัดหา การจัดเก็บ และการดำรงวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งสามารถจำแนกระบบย่อยออกเป็น 3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ระบบในกลยุทธ์ มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการผลิตในระยะยาว
ประเภทที่ 2 ระบบในระดับบริหารหรือกลวิธี มีความเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และติดตามดูแลต้นทุนและทรัพยากรการผลิต
ประเภทที่ 3 ระบบในระดับปฏิบัติการ มีความเกี่ยวข้องกับงานขั้นพื้นฐานของการผลิต
การจัดการการผลิตและดำเนินงาน
การผลิตและดำเนินงาน คือ กิจกรรมหลักกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้โซ่คุณค่าขององค์การ ซึ่งถือเป็นกระบวนการการสร้างมูลค่าให้กับการแปรรูปปัจจัยการผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่า ส่งตรงถึงมือลูกค้าหรือบริโภค และมีส่วนผลักดันให้การดำเนินงานด้านการตลาด อีกทั้งยังมีการตอบสนองเป้าหมายสำคัญทางการผลิต
1. แนวคิดและความหมาย
การผลิตและดำเนินงาน คือ การนำทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งด้านแรงงาน เงินทุน เครื่องจักร เทคโนโลยี วิธีการ วัตถุดิบ ความต้องการของตลาด การจัดการและเวลา ซึ่งรวมเรียกว่า ปัจจัยการผลิต โดยผ่านกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงสินค้าและบริการ (สุมน มาลาสิทธ์, 2548, หน้า 5)
กระบวนการผลิต คือ กิจกรรมการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าให้กับปัจจัยการผลิต เพื่อเข้าสู่รูปแบบของสินค้าหรือบริการซึ่งพร้อมส่งมอบให้ลูกค้า และในแต่ละกระบวนการผลิตจะประกอบด้วยกระบวนการผลิตย่อยหลายกระบวนการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ (ริทซ์แมน และกราจิวสกี, 2548, หน้า 2)
จากทั้ง 2 ความหมาย กระบวนการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและดำเนินงาน เพราะปัจจัยการผลิต คือ สิ่งรับเข้า กระบวนการผลิต คือ การประมวลผล และผลิตภัณฑ์ คือ สิ่งส่งออก ซึ่งสื่อถึงความหมายของกระบวนการผลิต
2. วิวัฒนาการผลิต
ในระยะเริ่มต้น ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินการผลิตบนพื้นฐานการผลิตเก็บเป็นสินค้าคงคลัง เน้นด้านการผลิตสินค้าปริมาณมากและขายสินค้าผ่านเครือข่ายของช่องทางการตลาดหลากหลานรูปแบบ ในเวลาต่อมาจึงได้เปลี่ยนวิธีการผลิตโดยนำแนวคิดของระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดีมาใช้ และใช้วิธีการผลิตแบบตามคำสั่ง หรือวิธีการประกอบสินค้าตามคำสั่ง เพื่อรองรับงานด้านการเปลี่ยนแปลงคำสั่งผลิตจากลูกค้าที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
3. กลยุทธ์การผลิตและดำเนินงาน
มุ่งเน้นถึงความต้องการของลูกค้า ที่สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายระยะยาวขององค์การ โดยอาศัยความร่วมมือจากแผนกการตลาดและการผลิต เพื่อธุรกิจจะสามารถรักษาลำดับสำคัญทางการแข่งขัน ทั้งในด้านต้นทุนการKrajewski, 2548, p.16 ) จำแนกกลยุทธ์การผลิตเป็น 3 กลยุทธ์ ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 การผลิตเก็บเป็นสินค้าคงคลัง เพื่อเก็บสินค้าคงคลังที่พร้อมส่งมอบให้แก่ลูกค้าทันที เหมาะกับการผลิตสินค้ามาตรฐานที่มีการผลิตในปริมาณมาก ธุรกิจจะต้องมีการพยากรณ์การขายได้อย่างแม่นยำ
กลยุทธ์ที่ 2 การผลิตตามคำสั่ง เป็นการผลิตตามความต้องการของลูกค้าโดยผลิตเป็นล็อตในปริมาณน้อย และมีความยืดหยุ่นสูงในการปฏิบัติหน้าที่
กลยุทธ์ที่ 3 การประกอบสินค้าตามคำสั่ง เป็นการประกอบชิ้นส่วนมาตรฐานตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้ในคำสั่งซื้อของลูกค้า และนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน
4.หน้าที่ทางการผลิตและดำเนินงาน
จัดแบ่งหน้าที่เป็น 2 ด้าน คือ หน้าที่ด้านการผลิต ซึ่งเน้นความพึงพอใจของลูกค้าในสินค้าหรือบริการของธุรกิจเป็นหลัก และอีกหน้าที่หนึ่ง คือ หน้าที่ด้านโรงงาน ซึ่งเน้นความสามารถด้านการรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจัดแบ่งหน้าที่การผลิตได้ ดังนี้
4.1 การวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยหาคำตอบว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร ผลิตอย่างไร
4.2 การออกแบบกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้กระบวนการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการผลิตภัณฑ์ของลูกค้า
4.3 การวางแผนทำเลที่ตั้งโรงงาน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการผลิตในส่วนลดต้นทุน กานขนส่ง และการรักษาคุณภาพของวัสดุ
4.4. การวางแผนการผลิตและดำเนินงาน เพื่อระบุวันผลิตและส่งมอบสินค้า
4.5 การจัดการวัสดุและสินค้าคงเหลือ โดยเลือกระบบการจัดการวัสดุและสินค้าคงเหลือที่ดี มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการจัดการงานระหว่างทำ
4.6 การควบคุมคุณภาพสินค้า ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4.7 การลดต้นทุนการผลิต โดยทำการค้นหาวิธีการ หรือแนวคิดใด ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของการลดต้นทุนการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีผลต่อธุรกิจ
4.8 การขจัดความสูญเปล่า โดยจะต้องออกแบบและดำเนินการตามาตรการที่จะลดความสูญเปล่าในโรงงานหรือในการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น การลดระดับสินค้าคงคลังหรือวัสดุคงคลัง
4.9 ความปลอดภัยในโรงงาน โดยสร้างระบบรักษาความปลอดภัยในโรงงาน ซึ่งสามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้ เช่น ISO 14000 และ ISO 18000 เป็นต้น
4.10 การเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต โดยการแสวงหาวิธีการเพิ่มผลผลิตในโรงงาน รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจใช้วิธีการขจัดความสูญเปล่าเข้าช่วย
4.11 การบำรุงรักษา โดยมีการบำรุงรักษาการแปรรูปผลผลิตให้คงไว้
4.12 การประสานงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การ ปัจจุบัน ได้มีการนำแนวคิดด้านการจัดการโซ่อุปทานมาใช้ เพื่อธุรกิจสามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
5. การจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์
ฐาปนา บุญหล้า (2548, หน้า 4,9) ได้นิยามความหมายของ การจัดการโซ่อุปทานและการจัดการโลจิสติกส์ ไว้ดังนี้
การจัดการโซ่อุปทาน หมายถึง การกำหนดกระบวนการบูรณาการด้านการวางแผน การจัดหา การผลิต การจัดส่ง และการคืนสินค้า โดนเริ่มตั้งแต่ผู้ขายทุกระดับจนถึงผู้ซื้อทุกระดับ ตลอดจนวางแผนแนวทางด้านกลยุทธ์การปฏิบัติการขององค์การ เกิดการไหลของสินค้า งาน ตลอดจนสารสนเทศ เพื่อที่จะลดต้นทุนรวมให้ต่ำสุด สร้างความพึงพอใจสูงสุด และก่อให้เกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน
การจัดการโลจิสติกส์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการโซ่อุปทาน คือ การวางแผน การปฏิบัติการและการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นประสิทธิผลการไหลของสินค้า การจัดเก็บสินค้า การบริการและสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
6. ระบบการผลิตยุคใหม่
6.1 ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี คือ แนวคิดทางการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นของระบบการผลิตแบบโตโยต้า หลักสำคัญ คือ ผลิตในจำนวนเท่าที่ต้องการและมีการควบคุมสินค้าคงเหลือให้เหลือน้อยที่สุด โครงสร้างของระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี มีดังนี้
6.1.1 กรรมวิธีการผลิต 3 ประการ คือ
1. การปรับเรียบการผลิต คือ การผลิตเป็นล็อตเล็ก ๆ
2. การออกแบบวิธีการและเครื่องมือการผลิต
3.สร้างมาตรฐานงาน และควบคุมให้เสร็จตามเวลามาตรฐาน ณ รอบการผลิตหนึ่ง
6.1.2 ระบบข้อมูลผลิต มีการนำแผ่นป้ายกำบังมาใช้สำหรับการสื่อสาร ระหว่างหน้าที่งานภายในโรงงาน ดังนั้น ทุก ๆ กระบวนการผลิตจึงใช้อัตราความเร็วของงานเท่ากันและใช้ระบบดึง คือ หน่วยงานหลังดึงชิ้นงานจากหน่วยงานหน้าเพื่อนำมาประกอบต่อ ส่วนหน่วยงานหน้าจะผลิตชิ้นส่วนทดแทนในจำนวนเท่ากับจำนวนชิ้นงานที่ถูกดึงไป ในส่วนผลที่ได้รับในการประยุกต์ใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี คือ การเพิ่มคุณภาพสินค้าและลดของเสียระหว่างการผลิตให้น้อยลง
6.2 ระบบการผลิตแบบลีน เป็นระบบการผลิตที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ทำให้เกิดมาตรฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง และมุ่งขจัดความสูญเปล่า ทั้งด้านคุณภาพ ราคา การจัดส่งสินค้าและการบริการแก่ลูกค้า ซึ่งนิพนธ์ บัวแก้ว (2548, หน้า 18) ได้ระบุหลักการของลีน 5 ข้อ ดังนี้
6.2.1 การระบุคุณค่าของสินค้าและบริการ โดยอาจใช้วิธีการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของธุรกิจกับผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งภายใต้มุมมองของลูกค้า
6.2.2 การแสดงสายธารคุณค่า โดยมีการจัดทำผังแห่งคุณค่าซึ่งระบุถึงกิจกรรมที่ต้องทำ
6.2.3 การทำให้เกิดการไหลของคุณค่าอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นที่จะให้สายการผลิตสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสม่ำเสมอ โดยปราศจากอุปสรรคขัดขวาง โดยใช้หลักการไหลของงานอย่างต่อเนื่อง
6.2.4 การให้ลูกค้าเป็นผู้ดึงคุณค่าจากกระบวนการ คือ จะทำการผลิตก่อต่อเมื่อลูกค้าเกิดความต้องการสินค้านั้น และในปริมาณที่ลูกค้าต้องการ
6.2.5 การสร้างคุณค่า และกำจัดความสูญเปล่าอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นด้านการเพิ่มคุณค่าให้สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนค้นพบความสูญเปล่าและขจัดให้หมดไป
สารสนเทศทางการผลิต
1. แนวคิดและความหมาย
สารสนเทศทางการผลิต คือ สารสนเทศที่ได้รับจากการประมวลผลของระบบสารสนเทศทางการผลิต ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลและสารสนเทศทั้งจากภายในและภายนอกองค์การ โดยมีการใช้สารสนเทศเหล่านี้สนับสนุนกิจกรรมทางการผลิต ทั้งในเชิงปฏิบัติการและเชิงบริหาร เพื่อมุ่งเน้นผลงานด้านการบริหารปละการควบคุมการผลิต
2. การจำแนกประเภท
2.1 สารสนเทศเชิงปฏิบัติการ คือ สารสนเทศที่ได้จากการดำเนินการผลิต
2.1.1 สารสนเทศด้านการดำเนินการผลิต มุ่งเน้นด้านผลิตภาพและคุณภาพของการผลิต
2.1.2 สารสนเทศด้านควบคุมคุณภาพ เพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดไว้
2.1.3 สารสนเทศด้านการแก้ปัญหา เช่น เครื่องรับรู้ในโรงงาน
2.2 สารสนเทศเชิงบริหาร คือ สารสนเทศที่ใช้สนับสนุนการวางแผนและจัดการผลิต
2.2.1 สารสนเทศด้านการออกแบบการผลิต เพื่อดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
2.2.2 สารสนเทศด้านการวางแผนการผลิต เพื่อให้ได้แผนการผลิตที่ถูกนำไปใช้สำหรับ ควบคุมการผลิตต่อไป
2.2.3 สารสนเทศด้านการจัดการโลจิสติกส์ มุ่งเน้นประสิทธิภาพของการเคลื่อนย้ายสินค้า และวัสดุที่รวดเร็ว ตลอดจนรักษาคุณภาพของวัสดุและสินค้าให้คงเดิม
2.2.4 สารสนเทศด้านการควบคุมการผลิต ให้สามารถอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
2.3 สารสนเทศภายนอกองค์การ คือ สารสนเทศที่ได้จากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลจากภายนอกองค์การ
2.3.1 สารสนเทศด้านผู้ขายวัสดุ เช่น ประเภทและคุณภาพของวัสดุ ราคาวัสดุ และปริมาณ วัสดุที่สามารถจัดส่งได้ในเวลาที่ต้องการ
2.3.2 สารสนเทศด้านผู้ขนส่งวัสดุ เช่น ตารางการขนส่ง ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่ง
กระบวนการทางธุรกิจของระบบสารสนเทศ
1. ระบบออกแบบการผลิต คือ จะต้องมีการออกแบบการผลิตในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนเริ่มงานด้านการวางแผนและการดำเนินการผลิต คือ ระบบที่มุ่งเน้นถึงหน้าที่ด้านการออกแบบในส่วนของผลิตภัณฑ์และระบบการผลิต
1.1 การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ การกำหนดรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนของการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น และสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อค้นหาความต้องการของลูกค้า และพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการชองลูกค้า
1.2 การออกแบบระบบการผลิต มุ่งเน้นถึงการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณค่าของผลผลิต เพื่อการสนองตอบกลยุทธ์ด้านความพึงพอใจของลูกค้าในระยะยาว ซึ่ง Turban et al (2666, p.258) ได้ยกตัวอย่าง ดังนี้
1. การผลิตรถยนต์ของบริษัทโตโยต้า จำกัด ใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี
2. แบบจำลองสายการผลิตของบริษัท เดลล์ คอมพิวเตอร์ จำกัด จะเป็นลักษณะรอ คำสั่งซื้อจากลูกค้า และใช้ระบบทันเวลาพอดี
2. ระบบวางแผนการผลิต
2.1 การวางแผนการผลิตรวม คือ การวางแผนอัตราการผลิต ปริมาณแรงงาน และการจัดเก็บคลังสินค้า โดยพิจารณาจากอุปสงค์ หรือความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งหากเป็นแผนการผลิตรวมของธุรกิจบริการมักเรียกว่า แผนพนักงาน
2.2. การจัดตารางการผลิต เป็นการวางแผนระยะสั้นที่สอดคล้องกับแผนการผลิตรวม โดยคำนึงถึงการใช้กำลังการผลิตอย่างคุ้มค่าภายใต้ข้อจำกัดในการผลิต ซึ่ทำให้ธุรกิจทราบถึงปริมาณงานการผลิตในแต่ละสัปดาห์
2.3 การวางแผนความต้องการวัสดุ คือ การจัดการวัสดุคงคลัง ที่ความต้องการวัสดุนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการวัสดุอื่นที่มีความเกี่ยวข้อง รวมทั้งตารางการขนส่งวัตถุดิบ
2.4 การวางแผนทรัพยากรการผลิต โดยมุ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง เช่น วัสดุ แรงงาน และค่าใช้จ่ายโรงงาน
3. ระบบจัดการโลจิสติกส์
3.1 โลจิสติกส์ขาเข้า คือ องค์การผู้ซื้อวัสดุและองค์การผู้ขายวัสดุ ซึ่งใช้สนับสนุนกิจกรรมภายในโซ่คุณค่าขององค์การในส่วนต่าง ๆ ดังนี้
3.1.1 การจัดหาวัสดุ
3.1.2 การตรวจรับวัสดุ
3.1.3 การควบคุมวัสดุ
3.2 การจัดการสินค้าคงเหลือ คือ การกำหนดถึงปริมาณของสินค้าคงเหลือ อาจอยู่ในลักษณะของวัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ชิ้นส่วนการผลิต งานระหว่างทำ ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูป
4. ระบบดำเนินงานการผลิต มุ่งเน้นถึงการผลิตามกระบวนการผลิตและตามแผนการผลิตในส่วนต่าง ๆ ที่วางไว้ นอกจากนี้ ระบบดำเนินการผลิตในปัจจุบัน ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหลากหลายรูปแบบ สำหรับช่วยสนับสนุนกิจกรรมของระบบการดำเนินการผลิตในส่วนต่าง ๆ เช่น การคอมพิวเตอร์ช่วยผลิต การผลิตแบบผสมผสานด้วยคอมพิวเตอร์ และการผลิตแบบยืดหยุ่น
5. ระบบควบคุมการผลิต จะเน้นถึงการควบคุมให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยใช้สารสนเทศทางการผลิตบางส่วน เช่น คำสั่งซื้อของลูกค้า รวมทั้งสถานภาพทางการผลิตของแต่ละสถานีการผลิต เพื่อตรวจสอบดูความก้าวหน้าของการผลิตให้เป็นไปตามแผนมากที่สุด
5.1 การควบคุมปฏิบัติการการผลิต มีการใช้ระบบสารสนเทศด้านการปฏิบัติการการผลิต (Manufacturing Execution Systems : MES) เพื่อติดตามร่องรอยการดำเนินการผลิตและการควบคุมองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต คือ วัตถุดิบ อุปกรณ์ แรงงาน คำสั่งผลิต รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางการผลิต เพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยืดหยุ่นและคุณภาพสูงสุดของกระบวนการผลิต (O’brien, 2005, p. 241)
5.2 การควบคุมคุณภาพ โดยมีการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านควบคุมคุณภาพ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของวัสดุและชิ้นส่วนที่จัดหามาได้ ตลอดจนคุณภาพของสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่อยู่ระหว่างการผลิตและคุณภาพของสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตเสร็จแล้ว โดยใช้ระบบเมตริก เป็นระบบการบันทึกผลลัพธ์จากการตรวจสอบคุณภาพและเปรียบเทียบผลตามมาตรฐานกับผลที่เกิดขึ้นจริง
5.3 การควบคุมต้นทุน ต้นทุนการผลิตหลัก คือ ต้นทุนค่าวัสดุ แรงงานและค่าใช้จ่ายโรงงาน ในการผลิตจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมต้นทุนเพื่อมิให้บานปลายเกินความจำเป็น
5.4 การบำรุงรักษา คือ การซ่อมบำรุงเครื่องจักร หรืออุปกรณ์การผลิตให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องในการทำงานและเป็นการรักษาความปลอดภัยในการทำงานด้วย
เทคโนโลยีทางการผลิต
1. โปรแกรมสำเร็จรูปทางการผลิต (Manufacturing Software) คือ ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ประเภทหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นใช้เฉพาะกับงานด้านการประมวลผลสารสนเทศทางการผลิตและจำเป็นต้องใช้ร่วมกับระบบจัดการฐานข้อมูล (DBMS) เพื่อสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
1.1 โปรแกรมสำเร็จรูปด้านจัดการโลจิสติกส์ คือ ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ซึ่งอำนวยความสะดวกต่อการจัดทำกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ เช่น การบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การคลังวัสดุ การคลังสินค้า การบริการลูกค้า เป็นต้น
1.2 โปรแกรมสำเร็จรูปด้านควบคุมสินค้าคงเหลือ คือ ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ซึ่งอำนวยความสะดวกด้านการควบคุมสินค้าคงเหลือ ที่มีการประยุกต์ใช้ตัวแบบสินค้าคงเหลือโดยอัตโนมัติ ด้วยต้นทุนการจัดหาซอฟต์แวร์ที่ต่ำ อีกทั้งมีการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจบนเว็บ
1.3 โปรแกรมสำเร็จรูปด้านวางแผนความต้องการวัสดุ คือ ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ซึ่งอำนวยความสะดวกต่อการวางแผนด้านการจัดหาชิ้นส่วน วัสดุและส่วนประกอบย่อยของเครื่องจักร โดยมีการพัฒนาเป็นระบบงานคอมพิวเตอร์
1.4 โปรแกรมสำเร็จรูปด้านวางแผนทรัพยากรการผลิต คือ ซอฟต์แวร์ที่พัฒนามาจากโปรแกรมสำเร็จรูปด้านวางแผนความต้องการวัสดุ มีฟังก์ชั่นสนับสนุนการทำงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลต้นทุนของชิ้นส่วนการผลิต รวมทั้งรายงานกระแสเงินสดจ่ายสำหรับชิ้นส่วนการผลิตนั้น
1.5 โปรแกรมสำเร็จรูปด้านการผลิตแบบทันเวลาพอดี คือ ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์จากผู้ขายซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ เช่น บริษัท ไอบีเอ็ม จำกัด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตแบบสั่งทำปริมาณมาก และกระบวนการผลิตตามคำสั่ง มุ่งเน้นเป้าหมายในด้านลดการสูญเสียทรัพยากรการผลิตให้น้อยที่สุด
2. การใช้หุ่นยนต์ อาจมีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยงานด้านการกระจายและการจัดการวัสดุในโกดังสินค้าขนาดใหญ่ หรือมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยงานด้านการนำออกวัสดุและชิ้นส่วนจากหน่วยเก็บสินค้าในเวลาที่ต้องการ ส่วนในประเทศญี่ปุ่น อาจมีการใช้ระบบอาคารอัจฉริยะในโรงงานอุตสาหกรรม โดยหุ่นยนต์จะนำแฟ้มสั่งงานไปยังลูกจ้าง และส่งแฟ้มกลับคืนยังหน่วยเก็บแฟ้ม
3. การใช้รหัสแท่ง (Barcode) คือ สัญลักษณ์ที่อยู่ในรูปของแท่ง ซึ่งประกอบด้วยรหัสแท่ง คือ แท่งที่มีสีเข้มและช่องว่างที่มีสีอ่อน แท่งเหล่านี้จะเป็นตัวแทนของตัวเลขหรือตัวอักษรและสามารถอ่านข้อมูลที่เก็บในรหัสแท่งด้วยเครื่องกราดตรวจ ข้อมูลทุกอย่างจะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล ซึ่งโดยปกติแล้วธุรกิจมักจะนำแท่งมาใช้ร่วมกับงานขายสินค้า งานตัดยอดสินค้าคงเหลือและงานสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม
4. การใช้อินเทอร์เน็ต
4.1 ระบบการจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ มีตัวอย่างของระบบบนเว็บที่ใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์จักรยาน โดยมีการรวมตัวของกลุ่มทีมงานโปรเจ็กต์ลิงก์ เพื่อประยุกต์ใช้ระบบจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Turban et al., 2006, p.259)
4.2 ระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นระบบที่ใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ขาเข้า โดยการใช้เทคโนโลยีเสียงและเครื่องกราดตรวจร่วมกับระบบสื่อสารแบบไร้สาย เพื่อสนับสนุนงานด้านการตรวจรับวัสดุจากผู้ขาย (Turban et al., 2006, p.256)
4.3 ระบบสารสนเทศด้านการควบคุมคุณภาพบนเว็บ พัฒนาขึ้นโดยผู้ขายซอฟต์แวร์ สำหรับการคำนวณผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน โดยใช้เครื่องรับรู้จดบันทึกข้อมูลในระบบ ซึ่งอาจมีการแปลความหายข้อมูลโดยระบบผู้เชี่ยวชาญบนเว็บ ตลอดจนให้คำแนะนำพิเศษด้านปฏิบัติการควบคุมคุณภาพ (Turban et al., 2006, p.257)
4.4 ระบบสารสนเทศด้านบริหารโครงการบนเว็บ มักใช้เครื่องมือเพื่อช่วยควบคุมโครงการ เช่นแผนภาพเพิร์ท และผังซีพีเอ็ม มุ่งเน้นที่การปรับระบบการจัดสรรทรัพยากรและการตัดสินใจ การใช้ซอฟต์แวร์พิเศษเพื่อประมาณการต้นทุน (Turban et al., 2006, p.258)
4.5 ระบบสารสนเทศด้านจัดตารางการทำงานของลูกจ้างบนเว็บ สำนักงานดีโปต์ ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยงานด้านการวางแผนและจัดตารางการผลิต ในส่วนการจัดสรรแรงงาน เพื่อประโยชน์ด้านการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า (Turban et al., 2006, p.259)
4.6 ระบบสารสนเทศด้านจัดการโกดังสินค้าบนเว็บ บริษัท เซอร์แมน ไฟน์ เพเพอร์ ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกกระดาษคุณภาพสูง ได้พัฒนาระบบสารสนเทศด้านจัดการโกดังสินค้าเพื่อปรับการพยากรณ์การผลิต และปรับกระบวนการจัดการสินค้าคงเหลือที่ดีขึ้น (Turban et al., 2006, p.259)
5. การออกแบบใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer – Aided Design : CAD) หรือ “แคด” คือ ระบบที่ช่วยสนับสนุนการอกกแบบทางวิศวกรรมของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ กระบวนการออกแบบจะคำนึงถึงความคิดเห็นของลูกค้ามากขึ้น มีการใช้แคดเพื่อสร้างแบบจำลองผลิตภัณฑ์ และทำการทดลองประสิทธิภาพของแบบจำลองนั้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากด้านการออกแบบเพื่อบ่งบอกถึงปัญหาที่มีอยู่ของผลิตภัณฑ์ และช่วยสนับสนุนงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์
6. การผลิตใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer – Aided Manufacturing : CAM) หรือ “แคม” คือ ระบบควบคุมและกระชับ กระบวนกรผลิตอัตโนมัติ โดยมักใช้ทำงานร่วมกับแคด และมีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยติดตามดูแลและควบคุมกระบวนการผลิตในโรงงาน อีกทั้งยังมีการตั้งโปรแกรมวิเคราะห์งานประจำวัน เพื่อทดสอบข้อขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การผลิต
7. ระบบการผลิตแบบยืดหยุ่น (Flexible Manufacturing System : FMS) คือ ระบบที่รองรับการเปลี่ยนแปลงคำสั่งการผลิตของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดเวลาการเปลี่ยนสายการผลิต ที่ส่งผลให้ธุรกิจตอบสนองความต้องการของตลาดและการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว
8. การผลิตแบบผสมผสานด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer – Integrated Manufacturing : CIM) หรือ ซิม คือ ระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงส่วนประกอบของกระบวนการผลิตเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นเป้าหมายในด้านการเชื่อมต่อกระบวนการผลิตกับการประมวลผลคำสั่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ ตลอดจนการขนส่ง
9. ระบบบูรณาการทางการผลิต มักช่วยสนับสนุนกิจกรรมที่หลากหลายทางการผลิต โดยมีการบูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีความง่ายต่อการใช้งาน และยังมีความเป็นอัตโนมัติ ซึ่งมุ่งเน้นถึงการผลิตสินค้าที่หลากหลาย (O’brien, 2005, p. 240)
10. ระบบสับเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI) เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลทั้งในส่วนของตัวอักษร ภาพ เสียง วีดีโอ โปรแกรมหรือโทรสาร ผ่านทางเครือข่ายส่วนตัว หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น